คำแนะนำ

วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553


อาหารสมุนไพร
อาหารสมุนไพร หมายถึง สมุนไพรที่ให้ประโยชน์เป็นทั้งอาหารและยารักษาโรค ในแง่ของอาหาร สมุนไพรดังกล่าวสามารถนำมาปรุงเป็นอาหารที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายในการดำรงชีวิต เนื่องจากมีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกายอยู่ สารดังกล่าวได้แก่ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน เกลือแร่ กรดอินทรีย์ ไวตามินและน้ำย่อย สารเหล่านี้ล้วนมีอยู่ในพืชแล้วทั้งสิ้น อาหารสมุนไพรอาจอยู่ในรูปของธัญญาหารและถั่วต่างๆ ผักผลไม้ เครื่องเทศ และเครื่องดื่มที่เตรียมมาจากสมุนไพร ในแง่ของยารักษาโรค อาหารสมุนไพรที่ใช้ขนาดที่พอเหมาะจะรักษาโรคได้ เช่นดอกอ่อนและยอดขี้เหล็กใช้แกงเป็นอาหาร ในขณะเดียวกันก็เป็นยาเจริญอาหาร และช่วยระบายด้วย กระเทียมเป็นเครื่องเทศที่ใช้แต่งกลิ่นอาหาร และออกฤทธิ์เป็นยาขับลม ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ตลอดจนมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราบางชนิดได้ ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งที่ได้จากอาหารสมุนไพร คือเส้นใยซึ่งเป็นเซลลูโลสในพืชจะทำให้ผู้บริโภคขับถ่ายได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น

วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553
















เศรษฐกิจพอเพียง
1.ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ อะไร
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงชีวิต และปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับรัฐทั้งในการดำรงชีวิตประจำวัน การพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวหน้าต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก
2.เศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างไร
เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง เศรษฐกิจที่สามารถอุ้มชูตัวเองได้ให้มีความพอเพียงกับตัวเอง (Self Sufficiency) อยู่ได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเอง และผู้อื่น ซึ่งต้องสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตนเองให้ดีเสียก่อนมีความพอกินพอใช้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ย่อมสามารถ สร้างความเจริญก้าวหน้าและฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศได้
3.ใครที่สามารถนำเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติได้
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวปรัชญาที่ทุกๆ คน สามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ไม่ว่าจะเป็นตัวท่านเอง นักเรียน เกษตรกร ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป ตลอดจนบริษัท ห้างร้าน สถาบันต่างๆ ทั้งนอกภาคการเกษตรและในภาคการเกษตร สามารถนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดังกล่าวไปปฏิบัติ เพื่อดำรงชีวิตและพัฒนาธุรกิจการค้าได้จริง
4.หลักการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง
การดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ทางสายกลาง และความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงหลักการ 3 ประการ ดังนี้ 1.ความพอประมาณ 2.ความมีเหตุผล 3.การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว
โดยการดำเนินงานเศรษฐกิจพอเพียงที่ดีจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ความรู้ และคุณธรรม ตลอดจนต้องเป็นคนดี มีความอดทน พากเพียร ความพอประมาณ หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับการดำรงชีวิต การดำเนินธุรกิจอย่างพอเพียงตามความสามารถ และศักยภาพของตนที่มีอยู่ และต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลที่เหมาะสมตลอดจนพึงนึกถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว เป็นการเตรียมความพร้อม ความรู้ ที่จะรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลง
การปฏิบัติตนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงท่านสามารถมีส่วนร่วมในการปฏิบัติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงโดยร่วมปฏิบัติในสิ่งง่ายดังนี้ 1.ยึดหลักประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในทุกด้าน ลด ละ ความฟุ่มเฟื่อยในการดำรงชีวิต 2.ประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง สุจริต แม้จะตกอยู่ในภาวะขาดแคลนในการดำรงชีพ 3.ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์ที่รุนแรงและไม่ถูกต้อง 4.ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ โดยขวนขวายหาความรู้ ให้เกิดรายได้เพิ่มพูน จนถึงขั้นพอเพียง 5.ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่วร้ายให้หมดสิ้นไป
5.การดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงจะเกิดผลอย่างไร
การดำเนินการพัฒนาตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจักนำไปสู่ 1.การดำรงชีวิตที่สมดุลมีความสุขตามอัตภาพ 2.การพัฒนาเศรษฐกิจของตนเองและประเทศชาติมั่นคง 3.การอยู่ร่วมกันในสังคมเกิดวามเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน
นอกจากนี้ ปรัญชาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ปฏิเสธการเป็นหนี้สิน การกู้ยืมเงิน แต่เน้นการบริหารความเสี่ยง คือ แม้ว่าจะกู้ยืมเงินมาลงทุน ก็เพื่อดำเนินกิจการที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงมากจนเกินไปแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ห้ามไม่ให้ลงทุนหรือขยายธุรกิจ แต่เน้นให้ทำธุรกิจที่ไม่ให้เสี่ยงมากเกินไปควรลงทุนให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง


ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ จึงประกอบหลักการหลักวิชาการ และหลักธรรมหลายประการ อาทิ(๑) เป็นปรัชญาแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ (๒) เป็นปรัชญาในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง (๓) จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวทันโลกยุคโลกาภิวัตน เพื่อให้สมดุล และพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่าง รวดเร็ว กว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม จากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี (๔) ความพอเพียง หมายถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผลรวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอ สมควรต่อ การมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน (๕) จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวัง อย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆมาใช้ในการวางแผน และดำเนินการ ทุกขั้นตอน(๖) จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตและให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญาและความรอบคอบ
หากจะทำให้เข้าใจง่าย ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีหลักพิจารณาอยู่ 5 ส่วน หรือ เพื่อง่ายต่อการจดจำ และนำไปปฏิบัติ อาจเรียกว่า 3 ลักษณะ 2 เงื่อนไข ก็ได้ องค์ประกอบด้านลักษณะ ความพอเพียงต้องประกอบด้วย 3 ลักษณะ ดังนี้• ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่นการผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ อาจกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือการยึดตนอยู่บนทางสายกลางก็เป็นได้ • ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ• การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวหมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล คือการ เตรียมพร้อมรับมือกับการแก้ปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้น องค์ประกอบด้าน เงื่อนไข ความพอเพียงต้องอาศัย 2 เงื่อนไข ดังนี้ • เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ • เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียรใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต เศรษฐกิจพอเพียงกับ เกษตร ทฤษฎีใหม่ และ ประสานความมั่นคงเศรษฐกิจเศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางปฏิบัติของ ทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางในการพัฒนาที่นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเองในระดับต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นตอน โดยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันแปรของธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่าง ๆ โดยอาศัยความพอประมาณและความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้ ความเพียรและความอดทน สติและปัญญา การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความสามัคคี เศรษฐกิจพอเพียงมีความหมายกว้างกว่าทฤษฎีใหม่โดยที่เศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบแนวคิดที่ชี้บอกหลักการและแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ในขณะที่ แนวพระราชดำริเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรอย่างเป็นขั้นตอนนั้น เป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในทางปฏิบัติ ที่เป็นรูปธรรมเฉพาะในพื้นที่ที่เหมาะสม ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ อาจเปรียบเทียบกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบพื้นฐานกับแบบก้าวหน้า ได้ดังนี้ ทฤษฎีใหม่แบบพื้นฐานความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัวโดยเฉพาะเกษตรกร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน เทียบได้กับทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ที่มุ่งแก้ปัญหาของเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ ต้องพึ่งน้ำฝนและประสบความเสี่ยงจากการที่น้ำไม่พอเพียง แม้กระทั่งสำหรับการปลูกข้าวเพื่อบริโภค และมีข้อสมมติว่า มีที่ดินพอเพียงในการขุดบ่อเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวจากการแก้ปัญหาความเสี่ยงเรื่องน้ำ จะทำให้เกษตรกรสามารถมีข้าวเพื่อการบริโภคยังชีพในระดับหนึ่งได้ และใช้ที่ดินส่วนอื่น ๆ สนองความต้องการพื้นฐานของครอบครัว รวมทั้งขายในส่วนที่เหลือเพื่อมีรายได้ที่จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่สามารถผลิตเองได้ ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวให้เกิดขึ้นในระดับครอบครัว อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่ง ในทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ก็จำเป็นที่เกษตรกรจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากชุมชนราชการ มูลนิธิ และภาคเอกชน ตามความเหมาะสม ทฤษฎีใหม่แบบก้าวหน้า ความพอเพียงในระดับชุมชนและระดับองค์กรเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 เป็นเรื่องของการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ หรือการที่ธุรกิจต่าง ๆ รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ กล่าวคือ เมื่อสมาชิกในแต่ละครอบครัวหรือองค์กรต่าง ๆ มีความพอเพียงขั้นพื้นฐานเป็นเบื้องต้นแล้วก็จะรวมกลุ่มกันเพื่อร่วมมือกันสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามกำลังและความสามารถของตนซึ่งจะสามารถทำให้ ชุมชนโดยรวมหรือเครือข่ายวิสาหกิจนั้น ๆ เกิดความพอเพียงในวิถีปฏิบัติอย่างแท้จริง ความพอเพียงในระดับประเทศ เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 ซึ่งส่งเสริมให้ชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ ในประเทศ เช่น บริษัทขนาดใหญ่ธนาคาร สถาบันวิจัย เป็นต้น การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในลักษณะเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ในการสืบทอดภูมิปัญญา แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และบทเรียนจากการพัฒนา หรือร่วมมือกันพัฒนา ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงทำให้ประเทศอันเป็นสังคมใหญ่อันประกอบด้วยชุมชน องค์กร และธุรกิจต่าง ๆ ที่ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงกลายเป็นเครือข่ายชุมชนพอเพียงที่เชื่อมโยงกันด้วยหลัก ไม่เบียดเบียน แบ่งปัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในที่สุด

จากการยึด หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางปฏิบัตินั้น คาดว่าผลที่จะได้รับจากการประยุกต์ใช้คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยีจะเห็นได้ว่าหากประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ยึดถือปรัชญานี้เป็นแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตน มีสำนึกในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญาและความรอบคอบ ประเทศไทยจะสงบสุข ร่มเย็นยืนหยัดอยู่ได้ด้วย ความสามารถ ความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกคนสุดท้ายนี้ผมขออัญเชิญ “พระบรมราโชวาท” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่นิสิตที่สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๙๙ ความว่า“การที่จะประกอบกิจการใดๆ ให้เจริญเป็นผลดีนั้น ย่อมต้องอาศัยความอุตสาหะพากเพียร และความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นรากฐานสำคัญ ประกอบกับจะต้องเป็นผู้มีจิตเมตตากรุณา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และพร้อมที่จะบำเพ็ญประโยชน์ ให้เกิดแก่ส่วนรวมตามโอกาสอีกด้วย”เอกสารอ้างอิง : การเดินตามรอยพระยุคลบาท เศรษฐกิจพอเพียง ช่วยแก้ปัญหาความยากจนและการทุจริต,สมพร เทพสิทธา

ปรัชญา




ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้เลยนะครับว่าสถานการณ์บ้านเมืองค่อนข้างเป็นที่น่าจับตามองในสภาวะที่สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลง ไปอย่างมากเข้าสู่ ระบบทุนนิยม ที่ “เงินตรา” มีความสำคัญนำหน้าจิตใจความรับรู้สิ่งที่ถูกผิด ศีลธรรม จริยธรรมถูกละเลย เป็นเรื่องรองลงมาจนบางครั้งผมเองรู้สึกว่า “เงิน” สามารถซื้อ ความเป็นมนุษย์ ความเป็นคนหรือซื้อศักดิ์ศรีความเป็นไทย ไปแล้วสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมไทย แทบทุกหย่อมหญ้า ไม่ว่าในสังคมเมืองหรือชนบท ระบบทุนนิยมได้เริ่มสร้างปัญหาสังคมต่างๆ ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม ความยากจน ความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนถึงปัญหาอาชญากรรมการรับรู้ข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองขณะนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ประชาชนต้อง คอยติดตามและใช้วิจารณญาณ คิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พ่อของแผ่นดิน” พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพทรงมองการณ์ไกลเสมือนหนึ่งเล็งเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า ที่อาจจะเกิดขึ้นกับผืนแผ่นดินไทย พระองค์ท่าน ได้พระราชทานปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศมาเป็นเวลานานแล้วและดูเหมือนว่าในสถานการณ์ปัจจุบันปัญหาต่างๆจะไม่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ถ้าแนวทาง เศรษฐกิจพอเพียงนี้ไม่ถูกละเลย และเป็นที่ยึดถือปฏิบัติ อยู่ในจิตสำนึกของพสกนิกรชาวไทย และที่สำคัญคือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำประเทศ และดูแลความสงบสุข เรียบร้อยในบ้านเมือง โอกาสนี้ผมจะขออัญเชิญ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเผยแพร่ให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาครับโดยปรัชญานี้มีเนื้อหาสาระดังนี้ครับ“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลางโดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียงหมายถึงความพอประมาณความมีเหตุผลรวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาต่างๆมาใช้ในการวางแผน และดำเนินการทุกขั้นตอน และ ขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และ นักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตและให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญาและความรอบคอบเพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคมสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี”